18 สโมสรร่วมแถลงข่าว มีต เดอะ เพรส นัดสุดท้าย, สมยศ​ ลั่นกวาดล้างล้มบอล

นายกสมาคมฯ, เลขาธิการ และ รองประธานบริษัท ไทยลีก ร่วมเป็นประธานการแถลงข่าว โตโยต้า มีต เดอะ เพรส ไทยลีก นัดสุดท้าย

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ บริษัท ไทยลีก จำกัด และ สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว โตโยต้า มีต เดอะ เพรส ไทยลีก นัดที่ 34 หรือนัดสุดท้ายของฤดูกาล วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 127 สนามราชมังคลากีฬาสถาน

การแถลงข่าวครั้งนี้นำโดย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ, พล.ต.ท. พิสัณห์ จุลดิลก เลขาธิการ, เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายคลับ ไลเซนซิง และ รองประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด  พร้อมด้วย ตัวแทนจาก 18 สโมสรที่เข้าร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้

พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “ขอบคุณทุกท่านที่ทำให้ผมได้มีโอกาสมาพบปะกับสื่อมวลชน ในโอกาสการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกที่ใกล้จะปิดฤดูกาล ปีที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า ทางสมาคมฯ พยายามปรับปรุงแก้ไข และทำทุกอย่างให้เป็นไปตามนโยบายและแผนที่วางเอาไว้เพื่อให้วงการฟุตบอลมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่อาจจะไม่ถูกใจคนบางส่วน เราก็พยายามแก้ไข เพราะมันเป็นเรื่องแปลกใหม่ บางครั้งก็ไม่คุ้นเคยกับกฏ กติกา ซึ่งตัวผม ผู้บริหาร และ สภากรรมการนำมาใช้ในกีฬาฟุตบอล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรานำมาเพื่อให้มีรูปแบบชัดเจน เป็นสากล เราไม่ได้คิดแล้วลงมือทำโดยลำพัง เราได้ศึกษารูปแบบของฟีฟ่า และ เอเอฟซี หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้น สิ่งที่เราทำ เราต้องการยกระดับ มาตรฐานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, สโมสรสมาชิก และ การแข่งขันฟุตบอลลีก เพื่อต่อยอดไปถึงทีมชาติไทย”

“สิ่งที่ผมอยากพูดคือการที่ทีมชาติไทย จะสามารถแข็งแกร่งได้ ที่มาก็คือสโมสรต้นสังกัด ผมขอมอบเครดิตทั้งหมดจากทีมชาติไทยให้กับสโมสรทุกสโมสร ไม่ใช่เป็นความดีของสมาคมฯ เพียงอย่างเดียว ถ้าสมาคมฯ หรือ โค้ชทีมชาติไม่มีวัตถุดิบที่ดี ไม่มีทรัพยากรที่ดี ทีมชาติก็จะประสบความสำเร็จไม่ได้ ต้องกราบขอบคุณเจ้าของสโมสร ผู้ที่ให้การดูแล ฝึกสอนนักกีฬาที่มาเล่นในนามทีมชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ถือว่าท่านได้ทำคุณประโยชน์ต่อสมาคมกีฬาฟุตบอล และมีส่วนต่อการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ”

“แผนงานของงสมาคมฯ ในสองปีหน้า เราวางแผนว่าทีมในโตโยต้า ไทยลีก จะมีการลดทีมเหลือ 16 สโมสร สิ่งที่ตามมา คือการเพิ่มเงินสนับสนุน ที่สมาคมฯ จะสนับสนุน ทั้งเงินรางวัล เงินสนับสนุน ให้มากกว่าเดิม รวมถึงเงินที่สมาคมฯ จะมอบให้กับสโมสรอีกจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ เราทราบดีว่าทุกสโมสรต่างมีค่าใช้จ่าย การจะพัฒนากีฬาฟุตบอลจะต้องมีงบประมาณที่พอเหมาะ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เรามีบวกและลบในทางเดียวกัน เช่นเดียวกับลีกระดับอื่นๆ ที่เราก็จะมีการปรับมาตรฐานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสโมสรทุกระดับชึ้น สโมสรเหล่านั้นแม้ว่าจะไม่มีนักฟุตบอลทีมชาติ แต่ก็เป็นรากฐานในการพัฒนาฟุตบอลแบบยั่งยืน”

“เรื่องของการล็อคผลการแข่งขัน ผมได้บอกกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ตัดสิน หรือใครก็ตามที่อยู่ในวงการ ผมจะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดสิ้น แต่มันก็ไม่ได้อยู่ที่ผมอย่างเดียว ทางสมาคมฯ ตั้งใจจะทำให้ปัญหานี้หมดไป แต่จะหมดหรือไม่มันขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก ใครที่มีส่วนร่วม เราหาหลักฐานและนำไปสู่การดำเนินคดี โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น”

“การเข้ามาทำสโมสรฟุตบอล แต่ละทีมต่างมีเป้าหมายที่แตกต่าง บางคนเข้ามาเพื่อประโยชน์บางอย่าง บางคนไม่ได้รักกีฬาฟุตบอลจริงๆ บางทีมไม่มีที่มา ไม่มีแฟนบอลสนับสนุน หรือทำธุรกิจแบบไม่จริงจัง  ผมไม่อยากเจาะลึกว่าแต่ละทีมมีเหตุผลอะไร บางทีมทำเพื่อรอการขายสโมสร พอขายไม่ได้ก็ต้องยุบทีม การเข้ามาทำทีมมีเหตุผลที่ต่างกัน ถ้าไม่ได้รักฟุตบอลจริงๆ ก็จะไม่เกิดความยั่งยืนจริงๆ  ถ้าสโมสรที่มีความตั้งใจจริง เข้าใจกีฬาฟุตบอล และมีธุรกิจสนับสนุน สโมสรเหล่านั้นถึงจะอยู่ได้”

“เรื่องปัญหาของผู้ตัดสิน ผมว่าเราจะโทษที่ผู้ตัดสินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องโทษคนที่เข้ามามีส่วนกำหนดผลการแข่งขัน เช่น คนที่ได้รับประโยชน์ ทั้งสโมสร และ บุคคลภายนอก และใช้ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน และนักกีฬาเป็นเครื่องมือในการกำหนดผลการแข่งขัน ยกตัวอย่าง นักพนัน นายทุน เป็นต้น ทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้คือที่มา”

“การล็อคผลไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมายาวนาน ซึ่งวิธีทำได้ถูกเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามสมัย ตามวิวัฒนาการของฟุตบอล ตั้งแต่ในระดับสมัครเล่น ในอดีตคือการช่วยเหลือพวกพ้อง แต่เมื่อมีวิวัฒนาการเป็นฟุตบอลอาชีพ ผลประโยชน์ที่ตามมาก็คือ ชื่อเสียงของสโมสร เงินสนับสนุน โอกาสที่จะได้ไปแข่งขันระดับนานาชาติ ทุกอย่างเป็นกระบวนการ”

“ผู้มีอำนาจในการกำหนดจัดผู้ตัดสิน ก็จะใช้วิธีต่างๆ ทั้งการ ขู่เข็ญ แลกเปลี่ยน ในรูปแบบของผลประโยชน์ รวมถึงการเล่นพนัน เมื่อมันเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เริ่มแทรกซึมเข้าไปในหมู่ผู้ตัดสิน รวมถึงนักกีฬา ทุกคนต่างทำพื่อผลประโยชน์  บางครั้งผู้บริหารสโมสรไม่รู้ด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้มีส่วนกับผู้บริหาร หรือ ผู้บริหารสโมสรบางสโมสรก็มีส่วนรู้เห็น ตรงนี้ผมยังไม่ขอลงรายละเอียด แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง สมาคมฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเป็นเวลาตลอดปี และใช้เวลาค่อยๆ รวบรวมหลักฐาน ตอนนี้ก็เริ่มที่จะชัดเจน และผมขอยืนยันว่ามันมีอยู่จริง และเรากำลังแก้ไข”

“ใครที่มีส่วนร่วมในวงการฟุตบอล เราต้องช่วยเหลือกัน เพื่อแก้ไขปัญหา สำหรับสมาคมฯ การพัฒนาผู้ตัดสิน เราพัฒนาทั้งทฤษฏี และ ปฏิบัติ เราอบรมจริยธรรม ให้เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ถูกต้อง เราพยายามนำสิ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องบอก ตอนนี้มีพระราชบัญญัติกีฬาออกมาแล้ว รวมถึง กฏของเอเอฟซี และฟีฟ่า และล่าสุดผมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างระเบียบ ข้อบังคับ และมีบทลงโทษ ซึ่งเราก็อ้างอิงจากฟีฟ่า และ เอเอฟซี แต่เรายังไม่ได้เอามาใช้ เพราะผมไม่อยากเอาอดีตมาแขวนคอ”

“ขณะเดียวกัน ต้นปีที่ผ่านมา ผมได้คัดเลือกผู้ตัดสินจำนวน 20 ท่าน และผู้ช่วยผู้ตัดสินอีก 20 ท่านไปอบรมที่ตุรกี 10-15 วัน ผู้ตัดสินเหล่านี้จะไปเรียนทฤษฎี รวมถึงอบรมการเป็นผู้ตัดสินที่ 5-6 และได้ทำหน้าที่กับสโมสรในประเทศตุรกี นี่คือการพัฒนาบุคลากรกีฬา ฤดูกาลหน้าผมอาจจะใช้ผู้ตัดสินที่เราคัดเลือก โดยอาจจะดันจาก T2 มาทำหน้าที่ มันอาจจะทำให้สโมสรไม่สบายใจ แต่ท่านจะได้รับความเป็นธรรม และ ยุติธรรม เพราะเป็นผู้ตัดสินหน้าใหม่”

“นอกจากนี้ เราก็วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยี อย่างเช่น VAR เหมือนที่ประเทศอื่นๆเขาใช้ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายมันแพงมาก ทั้งค่าใช้จ่ายต่อแมตช์ที่ทางฝ่ายต่างประเทศไปศึกษามา มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านบาท ส่วนเรื่องโกล ไลน์ เทคโนโลยี ก็มีมูลค่าสูงถึง 350 ล้านบาท ผมเองมีความฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผมไม่ฝันเฉยๆ ผมคิดแล้วผมก็อยากจะทำถ้าผมมีโอกาสผมก็จะทำให้สำเร็จ อย่างเช่นกรณีที่ไปดูที่สนามที่ญี่ปุ่นของ กัมบะ โอซาก้า ผมไม่ได้ไปเลียนแบบเขา แต่ผมไปเพื่อดูว่าญี่ปุ่นเขาคิดอย่างไร ถึงทำสนามได้โดยไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาล เขามีขั้นตอนทำอย่างไร การไปดูงานผมได้ประโยชน์มากมาย เพราะผมได้ส่งคำถามไปให้เขาก่อน เขาได้ศึกษาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ขออนุมัติที่ดิน เมื่อได้ที่ดินแล้วก็ตั้งคณะกรรมการ หาสปอนเซอร์ และกำหนดข้อกำหนด บางครั้งเขาก็ให้นักกีฬาถือกล่องบริจาคไปตามที่สาธารณะ รวมถึงรับบริจาคจากประชาชน และ เอกชน ใครบริจาคมากก็มีสิทธิ มีชื่อในสนาม แต่ผมกำลังศึกษา คนที่มีความรู้ ว่าการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับเขา ยกตัวอย่างเช่นการติดชื่อที่นั่ง และหากคุณต้องการเข้าชมก็สามารถเข้าได้เลย เป็นต้น สมาคมฯ จะล็อกไว้ ถ้าใครบริจาคมากกว่านั้น ก็มีสิทธิ์มากขึ้น ผมอยากทำให้สนามเป็นของคนไทย ทุกคนเป็นเจ้าของได้”

“ผมถามเขากรณีที่มีกองเชียร์ขว้างสิ่งของลงไปต้องทำอย่างไร เขาตอบว่าไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราต้องเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไร  คุณจะไม่มีทางเห็นกองเชียร์ญี่ปุ่นกระโดดบนที่นั่ง เขามีเก้าอี้ที่ดี หากใครมาทำลาย ผู้ทำลายต้องรับผิดชอบ ผมฝันที่จะทำให้ประเทศไทยทำแบบนั้นให้ได้ และพยายามศึกษาจากเขา ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำนั่นคือสิ่งที่ผมจะพยายามทำให้มันดีขึ้น สำหรับผมสิ่งที่วงการฟุตบอลไทยไม่มีตลอด ที่ผ่านมาเราไม่มีศูนย์ฝึกฟุตบอลของทีมชาติ เราอาจจะมีศูนย์ฝึกหนองจอก ผมก็พอใจ แต่ก็มีแค่สน้างหญ้าเทียมสนามเดียวและไม่มีไฟส่องสว่าง”

“แต่วันที่ 28 พฤศจิกายน นี้เราจะเปิดใช้ศูนย์ฝึกฟุตบอลของเราอย่างเป็นทางการ โดยมีประธานฟีฟ่า และ เอเอฟซี มาเปิด โดยมีสนามหญ้าจริง และ สนามหญ้าเทียมอย่างละหนึ่งสนาม และสนามเล่นฟุตบอล 7 คน อีกหนึ่งสนาม รวมถึงสนามเล็กที่ไว้สำหรับซ้อมผู้รักษาประตูโดยเฉพาะหรือเพื่อทำกิจกรรมอื่น, สนามฟุตวอลเลย์ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการครองบอล มีสนามบาสเก็ตบอล เพื่อเป็นการผ่อนคลายให้กับนักฟุตบอล ด้าน อาคาร กับ ห้องฟิตเนส ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ-ธนบุรี มีพร้อม และเราจะทำให้มันเกิดขึ้นในปีหน้า”

“นอกจากนี้ในปีหน้าเราจะมีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หากการเจรจาสิทธิประโยชน์ไม่มีการขัดข้อง ส่วนในระดับเล็กลงไป เราก็ได้มอบหมายให้คุณ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ประสานงานกับสปอนเซอร์ ตอนนี้เราก็ได้เจรจากับ 2-3 บริษัท หากเขาเข้ามามีส่วนร่วมและเราดำเนินการได้ เราก็เปิดโอกาสให้ ทางสมาคมฯ ก็ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ”

ด้าน เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายคลับ ไลเซนซิง และ รองประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด กล่าวว่า “ลำดับแรกก็ขอบคุณที่ทุกสโมสร ตั้งแต่ต้นฤดูกาลจนถึงวันนี้ ที่มาเข้าร่วมการแถลงข่าว ก่อนที่จะแข่งขันเกมสุดท้ายในวันเสาร์นี้”

“เรื่องแรกที่เราจะฝากถึงก็คืองานที่สมาคมฯ และ ฟีฟ่า จะร่วมจัดงานสัมมนา เพื่อให้ความรู้แก่สโมสรในระดับ โตโยต้า ไทยลีก และ M-150 แชมเปี้ยนชิพ ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพในวันที่ 11-13 ธันวาคม นี้ ซึ่งทางสมาคมฯ มองว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของสโมสรในไทย เพราะฟีฟ่า ได้เลือกที่ไทยซึ่งเป็นที่เดียว ซึ่งประเด็นหลักก็คือ การเพิ่มจำนวนแฟนบอล, การเตรียมการก่อนการแข่งขัน, การป้องกันผลการล็อคผลบอล รวมถึง การถ่ายทอดสด ซึ่งก็จะเชิญทาง ทรูวิชันส์มาเข้าร่วมสัมมนา เพื่อเพิ่มคุณภาพให้อยู่ในระดับเดียวกับฟีฟ่า และ เอเอฟซี และมีวิทยากรจากประเทศอิตาลีมาร่วมงานนี้ ก็ขอเชิญตัวแทนจากสโมสรเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา แม้จะมีการอบรมอังกฤษ แต่เราก็จะจัดล่ามแปลเพื่ออำนวยความสะดวก”

Tags: , ,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *